ระบบเศรษฐกิจทุนนิยม (Capitalism) จะอยู่ได้ก็ด้วยกิเลสของมนุษย์ ซึ่งก็คือการแสวงหากำไรสูงสุด (Maximized profit) เมื่อมีเสรีภาพในการทำเช่นนี้สังคมจึงเกิดปรากฏการณ์ที่เรียกว่า รวยกระจุก จนกระจาย มีคนร่ำรวยอยู่กลุ่มหนึ่งที่ผูกขาดทุกอย่างไว้ ในขณะที่คนส่วนใหญ่ซึ่งยากจนนั้นกระจัดกระจายทั่วประเทศ เนื่องจากเป็นเศรษฐกิจกระแสหลักที่มีทิศทางในการสอนมนุษย์ให้มีความต้องการมากขึ้นทุกวัน ไม่สิ้นสุด จึงทำให้คนที่รวยอยู่แล้วรวยยิ่งขึ้นในขณะที่คนยากจนก็จะจนลงทุกวัน (The rich gets richer, the poor gets poorer) เพราะไม่สามารถเข้าถึงแหล่งทุนและทรัพยากรได้ ดังนั้นจึงต้องเปลี่ยนจากเศรษฐศาสตร์ ยิ่งมากยิ่งดี เป็นเศรษฐศาสตร์ของ ความพอดี ( From the economics of more and more to the economics of enough )
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระราชทานพระบรมราโชวาทเกี่ยวกับแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงเมื่อ พ.ศ. 2517 แต่รัฐบาลไม่ได้ให้ความสนใจมากนัก เพราะเวลานั้นเศรษฐกิจของชาติดูเหมือนกำลังเติบโตตามแนวทางเศรษฐกิจกระแสหลักจากการเป็นแหล่งลงทุนของต่างประเทศ จนกระทั่งปี 2539 2540 เมื่อเกิดวิกฤติเศรษฐกิจ พระราชดำรัสเศรษฐกิจพอเพียงจึงถูกพูดถึงมากขึ้น
ความพอเพียงหรือความพอประมาณ คือการดำเนินชีวิตอย่างสมดุลกับระบบนิเวศ มีการเกื้อกูลแบ่งปันระหว่างคนในชุมชน พริกบ้านเหนือ เกลือบ้านใต้ พึ่งพาซึ่งกันและกัน มีความเป็นพี่น้องกัน (Kinship) เป็นเรื่องที่มีมาช้านาน แนบแน่นอยู่กับวิถีชีวิตชุมชนหมู่บ้านไทย เป็นเศรษฐกิจที่มีอุดมการณ์ในการผลิตต่างจากอุดมการณ์ของระบบทุนนิยม
การที่ประชาชนชาวไทยโดยเฉพาะอย่างยิ่งที่อยู่ในภาคเกษตรกรรมมีวิถีชีวิตที่ต้องอาศัยระบบนิเวศธรรมชาติในการผลิต หากว่าเข้าใจในปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงก็จะเป็นการเสริมฐานคิดในการดำเนินชีวิตด้วยความพอเพียง พอประมาณ มีสมดุล ไม่เบียดเบียนผู้อื่น โดยผลิตเพื่อบริโภค เพื่อเลี้ยงตนเองและครอบครัวเป็นหลัก เป็นเศรษฐกิจแห่งศีลธรรมหรือเศรษฐธรรมที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้กับภาคเศรษฐกิจทุกสาขาของประเทศ เช่นภาคการเงิน ภาคการค้า ภาคชนบท เพราะเป็นแนวคิดที่เน้นการละความโลภ และไม่เบียดเบียนผู้อื่น ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงจึงมีมิติที่ครอบคลุมมากกว่าเศรษฐกิจทุนนิยมของตะวันตก ทั้งนี้เพราะมีมิติไม่เพียงเรื่องวัตถุเท่านั้นแต่มีเรื่องของจิตใจและศีลธรรมรวมอยู่ด้วย
เศรษฐกิจพอเพียงจึงมีนัยสำคัญ 3 ประการ ดังนี้
ประการแรก : พอกิน พอใช้ พอประมาณ พอเหมาะพอควร มีความพอดี
พระธรรมอพยพ 16 : 14-18 เมื่อน้ำค้างระเหยไปแล้ว ก็เห็นสิ่งหนึ่งเหมือนเกล็ดเล็กๆเท่าเม็ดน้ำค้างแข็งที่อยู่
ที่พื้นดินในถิ่นทุรกันดาร เมื่อชนชาติอิสราเอลเห็นจึงพูดกันว่านี่อะไรหนอ...
โมเสสจึงบอกเขาว่า นี่แหละเป็นอาหารที่พระเจ้าทรงประทานให้พวกท่าน
รับประทาน... ให้ทุกคนเก็บ เท่าที่รับประทานอิ่ม ... บางคนเก็บมาก บางคน
เก็บน้อย... คนที่เก็บมากก็ไม่มีเหลือและคนที่เก็บได้น้อยก็หาขาดไม่ ทุกคน
เก็บได้เท่าที่คนหนึ่งรับประทานพอดี
เกล็ดเล็กๆเท่าเม็ดน้ำค้างแข็งอยู่บนพื้นดิน มีรูปร่างคล้ายเม็ดผักชี มีสีขาวอยู่ปะปนกับน้ำค้าง รสชาติอร่อยและมีคุณค่าทางโภชนาการ ต้องนำมาบดจึงจะรับประทานได้ สิ่งนี้คือ มานา (Mana)
พระธรรมกันดารวิถี 11 : 7-8 มานานั้นเหมือนเมล็ดผักชี สีเหมือนยางไม้ ประชาชนก็เที่ยวออกไปเก็บมาโม่
หรือตำในครกและใส่หม้อต้มทำขนม รสของมานาเหมือนขนมคลุกน้ำมัน
กลางคืนเมื่อน้ำค้างตกลงมามานาก็ตกลงมาด้วย
มานาไม่ได้เกิดขึ้นเองเป็นประจำสม่ำเสมอ แต่เป็นอาหารที่พระเจ้าทรงประทานให้มี พอกิน พอรับประทานอิ่ม ไม่ขัดสน ทุกคนเก็บได้เท่าที่เขาจะรับประทาน พอดี ดังคำอธิษฐานที่องค์พระเยซูคริสตเจ้าทรงตรัสสอน
พระธรรมมัทธิว 6 : 11 โปรดประทานอาหารประจำวันแก่ข้าพระองค์ทั้งหลายในกาลวันนี้
อาหารประจำวัน (daily bread) ซึ่งมี พอกิน ในแต่ละวันอย่าง ไม่ขัดสน แต่ก็ ไม่ฟุ่มเฟือย ไม่ต้องมีความกังวลว่าพรุ่งนี้จะเอาอะไรมากินและดื่ม (lack of anxiety about tomorrow) เพราะเรามั่นใจในพระสัญญาแห่งการเลี้ยงดูของพระเจ้า
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงมีพระราชดำรัสพระราชทานเนื่องในวโรกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2543 ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตลดา พระราชวังดุสิต ขออัญเชิญมา ณ ที่นี้
... เศรษฐกิจพอเพียงที่ได้ย้ำแล้วย้ำอีก แปลเป็นภาษาอังกฤษว่า Sufficiency Economy ภาษาไทยก็ต่อว่า ว่าไม่มี Sufficiency Economy แต่ว่าเป็นคำใหม่ของเราก็ได้ ก็หมายความว่า ประหยัด แต่ว่าไม่ ขี้เหนียว ทำอะไรด้วยความอะลุ้มอล่วยกัน ทำอะไรด้วยเหตุและผล จะเป็นเศรษฐกิจพอเพียง แล้วทุกคน จะมีความสุขแต่ว่าพอเพียง เศรษฐกิจพอเพียงนี้เป็นสิ่งที่ปฏิบัติยากที่สุด...
วันที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2544 ณ พระตำหนักเปี่ยมสุข ในหลวงทรงพระราชทานอธิบายเพิ่มเติม ความว่า
... ฉันพูดเศรษฐกิจพอเพียง ความหมายคือทำอะไรให้ เหมาะสมกับฐานะของตัวเอง ... คนชอบเอาคำพูดของฉันเศรษฐกิจพอเพียงไปพูดกันเลอะเทอะ เศรษฐกิจพอเพียงคือ ทำเป็น Self Sufficiency มันไม่ใช่ความหมาย ไม่ใช่แบบที่ฉันคิด ที่ฉันคิดคือ เป็น Self Sufficiency of Economy
ดร. สุเมธ ตันติเวชกุล อดีตเลขาธิการคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานในโครงการพระราชดำริ (กปร.) ได้สรุปความหมายของเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำริว่าหมายถึง เศรษฐกิจที่ สามารถอุ้มชูตนเองได้ มีความ พอเพียงกับตัวเอง (Self Sufficiency) เราจึงอยู่ได้โดยไม่เดือดร้อน ไม่ขัดสน มี พอกิน พอใช้ ตามอัตภาพ รู้จักประมาณตน ให้เหมาะสมกับฐานะ ไม่วิ่งตามกระแสแฟชั่น รับเอาวัฒนธรรมบริโภคนิยมเข้ามา ถือเป็นค่านิยมที่ผิดเพี้ยนไปจากวิถีไทย ไม่เน้นการขยายตัวทางเศรษฐกิจเป็นหลักเพียงอย่างเดียว แต่เน้นการ พอมี พอกิน พอใช้ พอประมาณ และ พอควร
ประการที่สอง : พื้นฐานมั่นคง พึ่งพาตนเองได้ มีความพร้อมพอควร
พระธรรมมัทธิว 7:24-27 และพระธรรมลูกา 6 : 47-49 พูดถึงรากฐาน 2 ชนิด หมายถึงคนสองจำพวกที่ได้ยินได้ฟังพระวจนะของพระเจ้า
จำพวกแรก ตอบสนองด้วยการประพฤติปฏิบัติตามพระคำของพระเจ้า จึงเปรียบได้กับคนมีปัญญาที่สร้างบ้านของตนไว้บนศิลา (founded on the rock) เมื่อฝนตก พายุพัด กระแสน้ำที่ไหลเชี่ยวมาปะทะก็ไม่อาจทำให้บ้านนั้นคลอนแคลนได้
จำพวกที่สอง เมื่อฟังพระวจนะของพระเจ้าแล้วก็ปล่อยให้ผ่านเข้าหูซ้ายออกหูขวา ไม่ลงมือประพฤติปฏิบัติตามพระคำของพระเจ้า จึงเปรียบได้กับคนโง่ที่สร้างบ้านของตนไว้บนทราย (founded on the sand) เมื่อฝนตก พายุพัด กระแสน้ำที่ไหลเชี่ยวมาปะทะบ้านนั้นก็พังทลายลง
ทำไมบางคนจึงสร้างบ้านไว้บนทราย เพราะการสร้างบ้านนั้นง่าย ไม่ต้องเจาะฐานรากหรือลงเสาเข็มให้ลำบาก หรืออีกเหตุผลหนึ่งก็เนื่องมาจากการสร้างบ้านไว้ริมชายหาดนั้นวิวสวย มีเสน่ห์ดึงดูดใจ ต่างจากการสร้างบ้านไว้บนศิลาที่ต้องขุดเจาะหินบนหน้าผา ยากและลำบาก
ในยามสงบรากฐานของบ้านบนทรายก็ดูปกติดีไม่มีปัญหา เมื่อมีวิกฤติเกิดขึ้นรากฐานย่อมไม่มั่นคง ดังนั้นการสร้างบ้านไว้บนทรายเปรียบได้กับการฝากความหวังไว้บนความมั่งมี เงินทอง ยศถาบรรดาศักดิ์ที่ไม่มีความมั่นคง แต่การสร้างบ้านไว้บนศิลานั้นย่อมมั่นคง เปรียบเสมือนการมอบถวายชีวิตไว้กับองค์พระเยซู คริสตเจ้าที่เราเชื่อและมั่นใจได้
ดังนั้นการสร้างบ้านโดยมีรากฐานที่ไม่มั่นคงจึงเป็นดังคนสายตาสั้น ไม่มองการณ์ไกล และจะต้องลงท้ายด้วยความเสียใจ เช่นเดียวกับผู้ที่ฟังพระวจนะแล้วไม่ประพฤติตามก็จะพบกับความสูญเสียอย่างใหญ่หลวง พระเป็นเจ้าทรงประสงค์ให้เราเป็นนักสร้างที่ฉลาด มีความพยายามแม้มีความลำบากในขั้นตอนของการสร้าง แต่ยอมทนเพื่อให้ได้มาซึ่งรากฐานที่มั่นคงเพื่อต่อเติมเสริมชั้นต่างๆให้สูงยิ่งขึ้น หรือขยายออกไปได้
บ้าน เปรียบได้กับ ตัวของเรา บ้านจะตั้งมั่นคงได้ ไม่พังทลายไป เจ้าของบ้านต้องลงมือสร้างไว้บนรากฐานที่มั่นคง คือ ศิลา (built on the rock) นั่นคือ เมื่อฟังพระวจนะของพระเจ้าแล้วนำมาประพฤติปฏิบัติตาม (put into action) ก็จะทำให้เกิดความมั่นคงในชีวิต
พระธรรมยากอบ 1 :22-24 ท่านทั้งหลายจงเป็นคนที่ประพฤติตามพระวจนะ ไม่ใช่เป็นแต่เพียงผู้ฟังเท่านั้น
เพราะว่าถ้าผู้ใดฟังพระวจนะและไม่ปฏิบัติตาม ผู้นั้น ก็เป็นเหมือนคนที่ดูหน้า
ของตัวในกระจกเงา เมื่อดูตัวเองแล้วก็ไป และลืมทันทีว่าตัวเองเป็นอย่างไร
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำรัสแนะแนวทางการดำเนินชีวิตด้วยปรัชญาแนวคิด เศรษฐกิจพอเพียง แก่พสกนิกรชาวไทยมากว่าสามสิบปี ทรงพระราชทานครั้งแรกเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2517 แก่นิสิตในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จึงขออัญเชิญมาดังนี้
... การพัฒนาประเทศจำเป็นต้องทำตามลำดับขั้น ต้องสร้างพื้นฐานคือความพอดี พอกิน พอใช้ของประชาชนส่วนใหญ่เป็นเบื้องต้นก่อน โดยใช้วิธีการและใช้อุปกรณ์ที่ประหยัด แต่ถูกต้องตามหลักวิชาการ เมื่อได้พื้นฐานมั่นคงพร้อมพอควรและปฏิบัติได้แล้ว จึงค่อยเสริมความเจริญและฐานะเศรษฐกิจที่สูงขึ้นโดยลำดับต่อไป ...
เมื่อพิจารณาใคร่ครวญตามกระแสพระราชดำรัสของพระองค์ท่านแล้ว เราจึงได้ความเข้าใจในแนวคิด เศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งเป็นปรัชญาที่ว่าด้วยการสร้างรากฐานที่มั่นคง ยั่งยืน เพื่อให้เกิดความเข้มแข็งต่อตนเองและต่อสังคม ไม่เดือดร้อนผู้อื่น ไม่เป็นภาระของสังคม มีภูมิคุ้มกันต่อระบบเศรษฐกิจ แนวคิดนี้จึงไม่จำกัดเฉพาะภาคเกษตรกรรมเท่านั้น แต่สามารถนำไปประยุกต์ใช้กับทุกสัมมาอาชีพ เช่น ข้าราชการ พ่อค้า แพทย์ ครูอาจารย์ บริษัทห้างร้าน ให้มีความสามารถพึ่งพาตนเอง และยืนบนลำแข้งตนเองได้ ทั้งนี้เพราะมีพื้นฐานที่มั่นคงแข็งแรงเพื่อพัฒนาตนเองไปสู่การดำเนินชีวิตเช่นคนที่มีปัญญา และนำพาสังคมไทยให้เป็นสังคมแห่งการเรียนรู้และสังคมแห่งความพอเพียง
ในฐานะของนักเรียน เราต้องสร้างพื้นฐานที่มั่นคงในชีวิตด้วยการใฝ่รู้ใฝ่เรียน เป็นการเตรียมความพร้อมอย่างมีขั้นตอน ยอมทนลำบากในการวางรากฐานไว้บนศิลาที่แข็งแรง ฝึกฝนทักษะให้เป็นคนที่มีความสามารถในการคิดวิเคราะห์ สังเคราะห์ และเชื่อมโยง เพื่อให้ได้องค์ความรู้ที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้เพื่อประโยชน์ต่อตนเองและสังคม
ประการสุดท้าย : เพื่อเพื่อนบ้าน เพื่อผู้อื่น มีความเป็นพี่น้องกัน
พระธรรมลูกา 3 :11 ผู้ใดมีเสื้อสองตัวจงปันให้แก่คนไม่มี และใครมีอาหารจงปันให้เหมือนกัน
ตามบริบทของชาวยิวนั้นเขาจะสวมเสื้อสองตัวเพื่อให้ความอบอุ่นแก่ร่างกาย แต่เมื่อยังมีผู้ที่ขัดสนไม่มีเสื้อจะใส่ เราจึงต้องมีความเอื้ออาทรเมตตาแบ่งปันแก่คนเหล่านั้น (Share what you have to those who need it)
วันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2541 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำรัสพระราชทานแก่คณะบุคคลต่างๆที่เข้าเฝ้าถวายชัยมงคลในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา ณ ศาลาดุสิตดาลัย สวนจิตรลดา พระราชวังดุสิตฯ เกี่ยวกับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเพิ่มเติมว่า
คำว่า พอเพียง มีความหมายกว้างออกไปอีก ไม่ได้หมายถึงการมีพอสำหรับใช้เองเท่านั้น แต่มีความหมายว่า พอมี พอกิน มีกินมีอยู่ไม่ฟุ่มเฟือย พึ่งตนเองได้ ยืนบนขาของตนเอง ดังนั้นคำว่า พอ ก็ เพียงพอ เพียงนี้ก็พอ คนเราถ้าพอในความต้องการก็มีความโลภน้อย เมื่อมีความโลภน้อยก็เบียดเบียนคนอื่นน้อย ...
มหาตมา คานธี (Mahatma Gandhi) ผู้นำชาวอินเดียในการต่อสู้เรียกร้องเอกราชจากการปกครองของอังกฤษโดยใช้หลัก อหิงสา (non violence) ได้กล่าวถึงความพอเพียงว่า The earth has enough for man's need but not for man's greed (โลกสามารถตอบสนองความจำเป็นของมนุษย์ทุกคนได้อย่างพอเพียง แต่ไม่เพียงพอต่อความโลภ ตะกละตะกลามของคนแม้เพียงคนเดียว)
ศาสตราจารย์ นพ. ประเวศ วะสี ให้ทัศนะว่า ความพอเพียงนั้นต้องมีความเอื้ออาทรต่อเพื่อนมนุษย์ มีมิติของมนุษย์ (Human Dimension) อยู่ร่วมกับสิ่งแวดล้อม ธรรมชาติ และมีศีลธรรม สำคัญยิ่งที่สุดคือความพอเพียงนั้นต้องเริ่มต้นจากใจของเราเองที่รู้จักพอ
คนไทยทุกคนผู้เป็นพสกนิกรจึงต้องสืบทอดพระราชปณิธานที่มุ่งให้สังคมของเรามีความ พอเพียง พอกิน พึ่งพาตนเองได้ เพราะมี พื้นฐาน ที่มั่นคง อีกทั้ง เพื่อผู้อื่น มีความเป็น พี่น้อง กัน เราทุกคนจะให้คำมั่นสัญญาว่า จะเดินตามรอยเท้าพ่อด้วยความพอเพียง
ขอบพระคุณพระเจ้าสำหรับในหลวงผู้ซึ่งเป็น พ่อของแผ่นดิน ขอพระองค์ทรงพระเจริญยิ่งยืนนาน
อาเมน...
|