จะทำตนเป็นคนดี ( I would be true )

 
 


วิศรุต จินดารัตน

Howard A. Walter บัณฑิตหนุ่มที่สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีด้วยคะแนนเกียรตินิยมจากมหาวิทยาลัยปรินส์ตัน ( Princeton University ) สหรัฐอเมริกา ปี ค.ศ. 1905 จากนั้นในปีต่อมาจึงเดินทางไปประเทศญี่ปุ่น เพื่อสอนวิชาภาษาอังกฤษที่มหาวิทยาลัยวาเซดะ ( Waseda University ) กรุงโตเกียว

 
 

ขณะที่จากบ้านเกิดเมืองนอนข้ามน้ำข้ามทะเลไปนั้นเขาอายุเพียง 20 ปีเศษ เท่านั้นการจากครอบครัวเป็นเวลานานและห่างไกลเช่นนี้ เขาต้องการให้แม่ของเขามั่นใจในตัวเขาจึงเขียนบทประพันธ์ ถึงแม่โดยให้ชื่อว่า “ My Creed ” หรือ หลักความเชื่อของฉัน ” ซึ่งเป็นปรัชญาในการดำเนินชีวิตของเขา ( philosophy of life ) เพื่อให้แม่มีความมั่นใจและเห็นถึงความตั้งใจในการดำเนินชีวิตในทางที่ถูกต้องว่าเขาจะไม่เหลวไหลและจะทำตนเป็นคนดีเสมอ เป็นคำปฏิญาณ ( Creedal statement ) อันเป็นที่มาของบทเพลง I would be true .

ฉันจะเป็นคนดี เป็นคนที่มีความซื่อสัตย์

ยึดถือความถูกต้อง มีศรัทธาแน่วแน่และเชื่อถือได้

ทางรัฐศาสตร์มี 2 คำ ที่มีความหมายว่า “ ความถูกต้อง ” คือ

legality = การถูกต้องตามกฎหมาย การชอบด้วยกฎหมาย

นั่นคือกระทำให้ถูกต้องตามหลักนิติศาสตร์ ไม่ผิดกฎหมาย ทำให้ชอบด้วยกฎหมาย แม้สิ่งนั้นไม่ถูกต้องมาก่อนก็ทำให้ถูกต้องได้ เช่น หวยใต้ดิน ที่เคยเป็นสิ่งผิดกฎหมายก็อาจทำให้ถูกกฎหมายได้โดยการนำมาไว้บนดินเป็นต้น

คำว่า legitimacy = การถูกต้องโดยธรรม ตามทำนองคลองธรรม ชอบด้วยกฎหมาย ถูกต้องตามขนบธรรมเนียมประเพณี ซึ่งต่างจาก legality ที่ยึดเพียงตัวบท กฎหมาย โดยไม่คำนึงถึงคุณธรรม จริยธรรม

ประเทศไทยกำลังเผชิญกับภาวะ “ ทางสองแพร่งของจริยธรรม ” (ethical dilemma )

เป็นสภาพกลืนไม่เข้า คายไม่ออก เมื่อผู้นำของประเทศได้ขายหุ้นบริษัทโทรคมนาคมที่ใหญ่ที่สุดแก่สิงคโปร์ ทำให้เกิดคำถามมากมายในเรื่องของ “ ความถูกต้อง ” ที่แม้ว่ามี legality (คือ ความถูกต้องตามกฎหมาย) แต่สังคมกำลังสับสนและถามถึง legitimacy ซึ่งเป็นความถูกต้องตามทำนองคลองธรรม เพราะเมื่อเราอ้างความชอบธรรมโดยไม่คำนึงถึงคุณธรรมก็จะเป็นดังคำพูดที่ว่า “ ชนชั้นใดเขียนกฎหมายก็เพื่อชนชั้นนั้น ” ความถูกต้องที่กล่าวอ้างจึงเป็นไปเพื่อผลประโยชน์ของผู้กำหนดกฎหมายเท่านั้น แต่ความถูกต้องที่แท้จริงนั้นจะต้องมีทั้งความถูกต้องตามตัวบทกฎหมาย ( legality ) และความถูกต้องตามทำนองคลองธรรม ( legitimacy ) ทั้งนี้ก็เพราะคุณธรรมและจริยธรรมเกิดขึ้นก่อนการบัญญัติกฎหมาย ซึ่งเป็นเพียงกรอบความประพฤติเท่านั้น

พระธรรมสดุดี 119 : 29-30 “ ขอโปรดนำข้าพระองค์ไปให้พ้นจากหนทางแห่งการโกหกหลอกลวง และขอโปรดประทานพระธรรมของพระองค์แก่ข้าพระองค์ ข้าพระองค์ได้เลือกดำเนินชีวิตในทางแห่งความจริง ตามครรลองของพระองค์ และข้าพระองค์ตั้งใจจะประพฤติปฏิบัติตามบทบัญญัติของพระองค์ ”

ผู้เขียนพระธรรมสดุดีได้สอนให้เราทุกคนรับเอาแบบอย่างขององค์พระผู้เป็นเจ้า ผู้ทรงเป็นแบบอย่างของความจริง ความถูกต้อง ที่ต่างจากซาตานผู้เป็นแบบของความหลอกลวง

สำหรับชาววัฒนาแล้ว คำว่า ความถูกต้อง หรือความจริง (true ) จึงไม่ได้มีความหมายเพียง legality คือถูกต้องตามกฎ ระเบียบ เท่านั้น แต่หมายถึง legitimacy ที่ถูกต้องตามทำนองคลองธรรม ถือเป็น แนวทางดำเนินชีวิต (rule of life ) ดังบทเพลงที่ท่านอาจารย์ อายะดา กีรินกุล ประพันธ์ไว้ในท่อนหนึ่งว่า

จะทำตนเป็นคนดี ชูเกียรติสตรีวัฒนา

เชิดชื่อชาวไทยให้ปรากฏนาม และจะเป็นศรีบ้านเมือง

ลือเลื่องด้วยเกียรติงดงาม บัดนี้ขอลาด้วยความอาลัย

อาเมน...