เกลือแห่งแผ่นดินโลก
( The salt of the earth )

 

 

พระธรรมมัทธิว 5 : 13 “ ท่านทั้งหลายเป็นเกลือแห่งแผ่นดินโลก ถ้าเกลือนั้นหมดรสเค็มไป แล้ว จะทำให้กลับเค็มอีกอย่างไรได้ แต่นั้นไปก็ไม่เป็นประโยชน์ อะไรอีก มีแต่จะทิ้งเสียสำหรับคนเหยียบย่ำ ” ( You are the salt of the earth . But if the salt have lost its saltiness, there is no way to make it salty again. It has become worthless, so it is thrown out and people trample on it )

 

 

ในสภาพภูมิอากาศร้อนโดยเฉพาะที่ซึ่งไม่มีตู้เย็น เกลือเป็นสิ่งจำเป็นและมีค่ามาก เพราะนอกจากจะทำให้อาหารมีรสชาติแล้วเกลือยังใช้ประโยชน์ในการถนอมรักษาอาหารได้อีกด้วย คุณค่าของเกลือจึงอยู่ที่ความสัตย์ซื่อต่อรสชาติ ( flavor ) และความสามารถในการถนอมรักษาอาหาร ( food preservation ) ทุกครั้งที่เราหยิบก้อนเกลือมาแตะที่ลิ้น ย่อมรับรู้ได้ถึงความเค็ม ( saltiness ) ไม่มีใครคาดคิดว่ามันจะเปลี่ยนเป็นรสเผ็ดหรือหวาน เกลือย่อมเป็นเกลือที่มีความเค็ม และสามารถป้องกันหรือ ชะลอไม่ให้อาหารเน่าเสีย

พระธรรมมาระโก 9 : 50 “ เกลือเป็นของดี แต่ถ้าเกลือหมดรสเค็มแล้วจะทำให้กลับเค็มอีก

อย่างไรได้ท่านทั้งหลายจงมีเกลือในตัว....... ”

“ เกลือเป็นของดี ” ( Salt is good ) ยิ่งเป็นเกลือที่บริสุทธิ์ก็จะคงความเค็มไว้ได้เป็นอย่างดี แต่เมื่อเกลือนั้นถูกน้ำชะล้างและตากแดดไว้ ความเค็มก็จะสูญเสียไป และหมดคุณค่า เกลือที่ถูกเจือปน ( contaminated ) มีแร่ธาตุอย่างอื่นปนเปื้อนคุณสมบัติของมันก็จะลดลง ประโยชน์ของมันจะมีน้อยมากนอกจากนำไปถมทางเดินไม่ให้หญ้าขึ้นเท่านั้นเอง

“ ท่านทั้งหลายจงมีเกลืออยู่ในตัว..... ” ( Have salt in yourselves.... ) เกลือช่วยถนอมรักษาอาหารและทำให้อาหารมีรสชาติเช่นเดียวกับเราทุกคนที่ต้องมีคุณสมบัติของความเป็นเกลืออยู่ในตัว เราต้องเป็นผู้ที่ทำให้สังคมตระหนักถึงความรับผิด ชอบร่วมกันในการช่วยกันทำให้โลกนี้ดีขึ้น

องค์พระเยซูคริสต์เจ้าทรงใช้ คุณสมบัติของเกลือเปรียบเทียบกับชีวิตของเราทุกคนดังนี้

ประการแรก : ความสัตย์ซื่อต่อรสชาติ ( Faithfulness )

เกลือมีรสเค็ม ทุกครั้งที่เติมเกลือลงไปในน้ำแกง เราย่อมมั่นใจได้ว่าจะมีรสเค็ม เกลือไม่เคยเปลี่ยนรสเป็นหวานหรือเผ็ด แต่คงความเค็มไว้อย่างมั่นคง อีกทั้งเกลือไม่ได้ถูกกลืนไปกับอาหารหรือสิ่งอื่น ( blend in ) แต่เกลือมีผลต่ออาหาร เป็นเครื่องปรุงที่ขับเอารสชาติที่ดีที่สุดของตนออกมาในทุกครั้งที่เราใส่เกลือลงไป

ประการที่สอง : ความแตกต่าง การสร้างความแตกต่าง ( Differentiation )

อาหารที่จืดสนิทจะมีรสชาติขึ้นมาทันทีเมื่อเราใส่เกลือลงไป เกลือเป็นเครื่องปรุงรส ( seasoning ) ที่ให้ความกลมกล่อมทำให้น้ำแกงน่ารับประทาน เนื้อธรรมดาจะมีรสเค็มเมื่อทาด้วยเกลือเป็นเนื้อเค็มที่แตกต่างอย่างเห็นได้ ( make a difference )

ประการสุดท้าย : ความสามารถในการแก้ไข ( Counteract )

เพื่อป้องกันไม่ให้อาหารบูดหรือเน่าเสีย เราจึงหมักหรือคลุกด้วยเกลือ เกลือสามารถถนอมรักษาอาหารได้ เป็นการแก้ไขสถานการณ์ที่กำลังจะเกิดการสูญเสียให้ดีขึ้น

เกลือมีความสัตย์ซื่อต่อรสชาติฉันใด ชีวิตของเราทุกคนก็ต้องสัตย์ซื่อต่อตนเองและผู้อื่นฉันนั้น หากตัวเรายอมให้สิ่งอื่นซึ่งเป็นความชั่วร้ายมาหลอมตัวเราและเราเองก็ละลายกลายเป็นทาสของมัน ชีวิตของเราก็ไร้คุณค่า เราต้องยืนหยัดบนความจริงมีองค์พระผู้เป็นเจ้าเป็นที่พึ่ง ดำเนินชีวิตด้วยความสัตย์ซื่อตามพระวจนะของพระองค์ เราจึงเป็นดังเกลือที่รักษาความเค็ม ความเป็นกุลสตรีวัฒนาไว้ได้

เกลือสร้างความแตกต่างให้อาหารมีรสชาติน่ารับประทานฉันใด ชีวิตของเราทุกคนก็ต้องสร้างความแตกต่างแก่สังคม จากสังคมที่ถือว่ามือใครยาวสาวได้สาวเอา สู่สังคมเอื้ออาทรมีการแบ่งปันจากค่านิยมรู้รักษาตัวรอดเป็นยอดดีสู่สังคมแห่งการเรียนรู้ร่วมกัน

เกลือสามารถแก้ไขความสูญเสียที่จะเกิดขึ้นได้ฉันใด ชีวิตของเราทุกคนจะต้องมีความกระตือรือร้นในการเยียวยารักษาสังคมที่กำลังจะเน่าเปื่อยฟอนเฟะด้านศีลธรรม ( Counteract the moral decay in society ) ให้มีสภาพดีขึ้น เราต้องกระหายหาความเป็นเกลือของแผ่นดินโลก ( the desire to salt the earth )

ขอให้ชาววัฒนาทุกคนเป็นผู้เติมรสชาติที่ดีแก่สังคมด้วยความรักของพระผู้เป็นเจ้า และให้เราช่วยกันเยียวยารักษาสังคมด้วยความเอื้ออาทรซึ่งกันและกัน ให้โลกใบนี้น่าอยู่ให้พระทัยของพระองค์สำเร็จในแผ่นดินนี้ ( Thy will be done on earth ) และรักษาคุณภาพความดีแห่งกุลสตรีวัฒนาไว้ดุจเกลือที่รักษาความเค็ม ( being salty ) ให้เราทุกคนเป็นเกลือแห่งแผ่นดินโลก อาเมน.